ความรู้วรรณกรรมกาพย์กลอนจีน
โดยอาจารย์ ทองแถม-นาถจำนง
จาก OKNation Blog
พิบัติเข้าถึงตนอย่าบ่นแปลก
国 破 人 何 在
家 惨 谁 可 惜
当 今 推 旁 事
祸 到 别 心 奇
บทกวีภาษาจีนข้างต้น อาจารย์ ทองแถม นาถจำนงแต่งไว้นานแล้ว ท่านจำได้เลาๆว่าแต่งหลังจากที่คณะรสช. ยึดอำนาจ ( ช่วงปลายเดือน พฤษภาคม 2557 ) แล้ว อาจารย์ทองแถมก็มองล่วงหน้าไว้เลยว่า พิบัติมาอีกแล้ว เนื้อภาษาไทยอาจารย์ทองแถมแปลว่าดังนี้
สิ้นชาติ แล้วคน อยู่หนไหน
บ้านสลาย แล้วใคร เสียดายเล่า
ตอนนี้ผลัก ปัญหาไป ด้วยใจเบา
พิบัติเข้า ถึงคน อย่าบ่นแปลก
ทุกปัญหา ถ้าเราใส่ใจรวมพลังกันแก้ไขเสียแต่ต้น ความเสียหายจะไม่รุนแรง ปัญหาใดปล่อยปละละเลย ผลักปัญหาไป มองว่าธุระไม่ใช่ ถึงคราวฝีแตกก็เดือดร้อนกันไปทั่ว
เขียนถึงบทกวีเบาๆกันดีกว่านะ
ว่ากันถึงบทกวีจีน อาจารย์ทองแถมก็ยังหลงใหลกวีฉันทลักษณ์แบบเก่า กวีกลอนเปล่าแบบใหม่ของจีนนั้น มีที่ถูกใจอาจารย์ทองแถมน้อย
บทกวีของจีนมีหลายประเภท ที่โบราณที่สุดเขาเรียกว่า “กู่ซือ” เป็นบทกวีวรรคละสี่คำ บทกวีประเภทนี้นิยมกันมาตั้งแต่ก่อนยุคขงจื๊อ ท่านขงจื๊อชำระคัดเลือกบทกวีประเภทนี้ไว้เล่มหนึ่งเรียกกันว่า “ซือจิง” บทกวี “กู่ซือ” นิยมสืบทอดกันต่อมาจนถึงยุคสามก๊กครับ
โจโฉนี่เขาเป็นมือกวีแบบ “กู่ซือ”
บทกวีโบราณอีกประเภทหนึ่งเขาแต่งยาว ใช้ประโยคยาว ลักษณะคล้ายๆร่ายยาวของไทย
ยุคสามก๊กเป็นรอยต่อระหว่างรูปแบบ“กู่ซือ”กับ “ซินซือ” ซินซือแปลว่าซือแบบใหม่ ซินซือมาเจริญถึงจุดสูงสุดในยุคราชวงศ์ถัง กวีคนดังที่สุดก็คือหลี่ไป๋ ตู่ฝู่
บทกวีประเภทซือ เขาส่งสัมผัสกันท้ายวรรค
และทุกคำในวรรค มีบังคับเสียง กลุ่มเสียงวรรณยุกต์เขามี สี่เสียงครับ แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ 1.กลุ่มเสียงสามัญกับจัตวา กา ก๋า 2. กลุ่มเสียงเอกกับเสียงโท ก่า ก้า
คำทุกคำจะต้องเข้าคู่ล้อกันกับตำแหน่งนั้นๆในวรรคก่อน อย่างเช่น คำแรกในวรรคที่หนึ่ง เราใช้คำในกลุ่ม “สี” เช่น ขาว ตำที่สองในวรรคที่สอง เราก็ต้องหาคำในกลุ่มสีมาใช้ เช่น แดง ดำ เป็นต้น
มีบังคับกันขนาดนี้ จึงแต่งยาก
หลังจากราชวงศ์ถัง ปราชญ์จีนเขาเล่นซือกันจนเบื่อ จึงสร้างฉันทลักษณ์ใหม่เรียกว่า “ฉือ” นี้ นอกจากมีบังคับแบบเดียวกับซือแล้ว ยังบังคับ “ทำนอง” ด้วย คือในยุคโบราณนั้น รูปแบบฉันทลักษณ์ฉือแบบหนึ่งๆ เขามีทำนองไว้สำหรับร้องเพลงได้ด้วย ฉันทลักษณ์ฉือนั้น เปิดทางให้กวีเล่นได้สนุกขึ้น คือในแต่ละวรรคนั้น จำนวนไม่เท่ากัน
ต่างจากซือ ที่บังคับว่า วรรคหนึ่งมี 5 คำ 7 คำ* ตายตัว
ฉือรุ่งเรืองสูงสุดในยุคราชวงศ์ซ่ง
ต่อมาคนก็เบื่อฉือ คิดฉันทลักษณ์ใหม่เรียกว่า “ชวี”เหมือนกับสูงสุดคืนสู่สามัญ ชวีจะสั้นกระชับ ใช้คำสามัญง่ายๆที่ให้จินตนาการมาก สำนวนโก้วเล้งนั้นลอกเลียนมาจากบทกวีชวีมากมายเลยครับ
แรกๆที่อาจารย์ทองแถมแปลบทกวีจีนเป็นไทย อาจารย์ทองแถมแปลเป็นฉันทลักษณ์หมด แต่ต่อมา ถ้าเป็นประเภทฉือ และชวี แล้ว อาจารย์ทองแถมจะถอดเป็นกลอนเปล่า เพราะมันจะสื่ออารมณ์ได้ชัดกว่า ส่วนประเภทซือ อาจารย์ทองแถมจะถอดเป็นฉันทลักษณ์ไทย
อ่านซือบทต่อไปนี้เล่นๆกันดูอีกสักบท เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น ขณะที่อาจารย์ทองแถมล่องเรือท่องแม่น้ำแยงซี แยงซีเป็นธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่มาก ท่องเรือชมสามวันห้าวันไม่มีเบื่อหน่ายครับ
山 高 水 急 千 万 画
神 游 三 峡 长 江 长
江 深 地 广 情 更 阔
人 生 此 刻 难 摸 仿
ภูสูงน้ำเชี่ยวภาพพันหมื่น
เทพชมชื่นโตรกธารแยงซีไหล
แม่น้ำลึกแผ่นดินกว้างฤาเท่าใจ
ชีวิตนี้ขณะไหนจะเทียมทัน
* บทร้อยกรองรูปฉันทลักษณ์ "ซือ" 7 คำ นี้ได้มีบรรยายไว้ให้เห็นอีกคือ อ้างอิงคำบรรยายไว้ในหนังสือเรื่อง " กินข้าวกับอาม้า - วรรณกรรมอาหารการกินของลูกจีนในเมืองไทย " โดยอาจารย์ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม เป็นผู้เขียน โดยในหนังสืออ้างอิงดังกล่าว หน้า 158 อาจารย์ อดุลย์ ได้อธิบาย เรื่องบทร้อยกรองรูปฉันทลักษณ์ "ซือ" 7 คำ ของจีนไว้อย่างละเอียดว่า
หื่ออี๊ ลูกชิ้นปลาวิเศษ
เถียว เถียว ไป๋ ม่าน โย่ เซียน เหม่ย
ไพ เนี้ย จั้ว เฉิง เสียว เสวี่ย หวาน
ฉุน เจี๋ย หยวน ฮว๋า ถาน ซิ่ง ห่าว
โหยว ซุ่ย เส้อ โข่ว เว่ย ชิง เถียน
อาจารย์อดุลย์ รัตนมั่นเกษม ได้อธิบายว่า บทร้อยกรองรูปฉันทลักษณ์ "ซือ" 7 คำ ของกวีนิรนามชาวจีนบทนี้ เป็นพรรณาชม "หื่ออี๊" อาหารจีนชนิดหนึ่ง กวีนิพนธ์บทนี้แม้จะไม่มีชื่อเสียง อาจารย์บอกว่าแต่ก็ฟังไพเราะ ทั้งการเลือกใช้คำและฉันทลักษณ์ ทว่าบทแปลที่อาจารย์แปลข้างล่างนี้ อาจไม่ไพเราะเท่าต้นฉบับจีน ด้วยฝีมือโคลงกลอนของอาจารย์อดุลย์ว่า
เนื้อปลาไหล ทุกตัว แลใหม่สด
ขยำบด นวดปั้น จนกลมเกลา
เนื้อปลาล้วน เนียนนุ่ม หยุ่นปากเรา
กรอบนอกเข้า เนื้อในหวาน อร่อยเอย